ประกาศจากสมาร์ทดีแคมป์
COVID-19 ทำให้เราต้องจากกันเกือบ 3 ปี
Smart D Camp ห่วงใยความปลอดภัยของเด็ก
เมื่อสถานการณ์ปกติ ค่ายดี ๆ มีแน่นอน
พบกับ Smart D Camp ปิดเทอมใหญ่ 2566
จบค่ายแล้วอย่างประทับใจ
พบกับบันทึกความทรงจำ ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 19
ตอน ตามหากาลิเลโอ
วันที่ 5-8 ตุลาคม 2562
ณ ภูผาผึ้ง รีสอร์ท จ.ราชบุรี
5 แนวทาง เลือกค่าย ให้ลูกคุณ

5 แนวทาง เลือกค่าย ให้ลูกคุณ ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ปิดเทอม เป็นช่วงเวลาสนุกสนานของเด็ก ๆ แต่สำหรับผู้ปกครองแล้ว อาจเป็นเรื่องชวนปวดหัวไม่น้อย เพราะตารางเวลาทำงาน ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมของเจ้าตัวน้อยในแต่ละวัน ผู้ปกครองบางท่านจึงนิยมส่งบุตรหลานไปทำกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ
หนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมช่วงปิดเทอม คือ การส่งเด็กเข้าค่ายทำกิจกรรม หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “เข้าค่าย” นั้นเอง ซึ่งค่ายต่าง ๆ ในปัจจุบันมีมากมายหลากหลายรูปแบบ จนผู้ปกครองบางท่านเริ่มสับสน ไม่รู้จะเลือกค่ายไหนให้บุตรหลานดี วันนี้เราจึงมาแนะนำ 5 หัวข้อที่เป็นแนวทางในการใช้เลือกค่ายให้ลูกหลานของคุณ
1. ค่ายนั้นเป็นค่ายเกี่ยวกับอะไร เหมาะสมกับเด็กแค่ไหน
ในปัจจุบันมีค่ายเด็กหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีความเหมาะสมกับเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ค่ายกีฬา อาจเหมาะสมกับเด็กผู้ชายที่ชอบกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมากกว่าเด็กผู้หญิงที่ไม่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง ค่ายเขียนโปรแกรม อาจเหมาะสมกับเด็กโตมากกว่าเด็กที่เล็กเกินไป การรอช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้เด็กได้เรียนรู้จากค่ายนั้นได้อย่างเต็มที่
ค่ายที่เหมาะสมกับเด็กทุกเพศ ทุกวัย เช่น ค่ายด้านภาษา ค่ายธรรมะ ค่ายพัฒนาไอคิว ค่ายพัฒนาอีคิว ค่ายศิลปะ ค่ายค้นหาความถนัด ค่ายธรรมชาติวิทยา ฯลฯ การเลือกค่ายขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าต้องการพัฒนาเด็กในด้านใด รวมถึงความสนใจส่วนตัวของเด็กด้วย
2. เด็กอยากไปค่ายแบบไหน
ผู้ปกครองบางท่านคะยั้นคะยออยากให้เด็กไปค่ายที่ตนเองต้องการ เพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะบางอย่างเพิ่มขึ้น แต่เด็กไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ผลที่ได้อาจรุนแรงกว่าที่คาดคิด
ตัวอย่างกรณีศึกษา ผู้ปกครองอยากให้ลูกไปค่ายธรรมะ เนื่องจากลูกเป็นเด็กค่อนข้างซน มีอารมณ์โมโหรุนแรง เลยคิดว่าการนั่งสมาธิในค่ายอาจช่วยให้ลูกสงบลงได้ โดยไม่ได้คิดว่าลูกตนเองอยากไปค่ายแบบนี้หรือเปล่า ผลก็คือ เด็กไม่ให้ความร่วมมือในกิจกรรม ร้องไห้ส่งเสียงดัง จนในที่สุดผู้ปกครองต้องมารับตัวกลับบ้านก่อนค่ายจบ กลายเป็นความเข็ดขยาดในการมาค่ายไปเลย
วิธีที่ถูกต้อง คือ ผู้ปกครองควรส่งเด็กมาค่ายที่เขาสนใจก่อน เมื่อเด็กสนุกกับการมาค่ายแล้ว ครั้งต่อไปผู้ปกครองจึงเริ่มเลือกค่ายที่ช่วยเสริมทักษะ หรือเติมเต็มประสบการณ์ของเด็กไปทีละขั้น
3. ค่ายนั้นเด็กและผู้ปกครองได้ประโยชน์อะไร
ค่ายที่เนื้อหากิจกรรมไม่ชัดเจน เด็กกลับมาแล้วไม่สามารถเล่าให้ฟังได้ว่าทำอะไรมาบ้าง เรียนรู้อะไรบ้าง ผู้ปกครองจะไม่รู้เลยว่าเด็กได้พัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า
ค่ายที่ดีควรมีลักษณะของการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ปกครองหลังเด็กกลับจากค่าย เช่น ถ้าเป็นค่ายเกี่ยวกับศิลปะ ควรรวบรวมผลงานศิลปะทั้งหมดของเด็กไว้ แล้วส่งให้ผู้ปกครองได้ชมในภายหลัง ผลงานแต่ละชิ้นของเด็ก ๆ เป็นตัวเล่าเรื่องราวในค่ายได้เป็นอย่างดี
ควรมีการส่งข้อมูลของเด็กในช่วงทำกิจกรรมในค่ายให้ผู้ปกครองได้รับทราบ เช่น ภาพกิจกรรม ผลประเมินของเด็กแต่ละคน ยิ่งถ้าเป็นการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นแล้ว ผู้ปกครองจะได้ประโยชน์จากข้อมูลชุดนั้น นำมาพัฒนาศักยภาพของบุตรหลานต่อไปได้เป็นอย่างดี
4. ค่ายนั้นปลอดภัยแค่ไหน
สถานที่พักเหมาะสมกับการเข้าค่ายหรือไม่ กิจกรรมมีความปลอดภัยเพียงใด เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองล้วนต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ สถานที่พักในค่ายที่ดี ควรให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย รื่นรมย์ ปลอดภัย มีพื้นที่ มีบริเวณ รั้วรอบขอบชิดที่ดูแลจัดการง่าย พื้นที่เอื้อประโยชน์ในการทำกิจกรรม
ในส่วนของกิจกรรม ถึงแม้ค่ายจะทำให้เด็กสนุกแค่ไหน แต่ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ ตัวอย่างค่ายที่มีกิจกรรมทางน้ำ มาตรฐานความปลอดภัยต้องอยู่ในระดับสูงมาก ทีมพี่เลี้ยงต้องมีเพียงพอ สามารถดูแลได้ทั่วถึง ผู้ปกครองควรสอบถามข้อมูลกับทางค่ายต่าง ๆ โดยตรง
5. ค่ายนั้นมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำค่ายเด็กแค่ไหน
การออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็กมีความละเอียดอ่อน ต้องสอดคล้องกับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญ การทำให้เด็กได้เรียนรู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ต้องมีความสนุกสนานควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งถ้าทำได้จะทำให้เด็กเกิดความประทับใจ จดจำ และพัฒนาการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
ผู้ปกครองควรเลือกค่ายที่มีการพัฒนาโปรแกรมโดยผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ มีความรู้ด้านการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง และมีการสั่งสมประสบการณ์การทำค่ายเด็กมานาน
เป็นอย่างไรบ้างกับ 5 แนวทางในการเลือกค่ายเด็ก พิจารณาเลือกกันดี ๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกๆ ของคุณ ปิดเทอมปีนี้ หวังว่าเด็ก ๆ คงได้ไปค่ายที่ได้ความรู้ และความสนุกสนานไปพร้อมกันนะครับ
สนับสนุนบทความ โดย ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ Smart D Camp
www.smartdcamp.com
(บทความมีลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ข้อความต้องได้รับอนุญาตจากผู้จัดก่อน)
เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง บางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง
แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง
เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี
เด็กที่ไม่เก่งด้านภาษา อาจจะมีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ
เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา
เด็กที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี
เด็กที่ไอคิวสูง อาจเก่งหลายเรื่อง แต่ขาดทักษะทางสังคมที่ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ
ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมาย ได้เช่นกัน
การค้นหาปัญญาความสามารถ เสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้สัมผัสและแสดงออก และส่งเสริมพัฒนาในด้านที่เด็กถนัด จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาในที่สุด
สมาร์ทดีแคมป์ (Smart D Camp) ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทางเลือกเพื่อการพัฒนาเด็ก โดยจัดเป็นกิจกรรมค่าย และโปรแกรมต่างๆ เพื่อค้นหาแววความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหา และพัฒนาตนเองของเด็กต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างทักษะสังคม การเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ และเป็นการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่าด้วย
จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง
จากประสบการณ์สู่ความเชี่ยวชาญ
ด้วยบทพิสูจน์จากผลงานมากกว่า 100 กิจกรรม
ในด้านการจัดค่าย และ โปรแกรม
สำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
Smart D Camp จัดทำเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ ค่ายช่วงปิดเทอม และค่ายสุดสัปดาห์ เพื่อให้เด็กและวัยรุ่นได้ค้นหา พัฒนาความสามารถที่มีอยู่ สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำทฤษฎีพหุปัญญามาประยุกต์เพื่อส่งเสริมสติปัญญาทุกด้าน ทั้ง การใช้เหตุผล ภาษา มิติสัมพันธ์ ดนตรี กีฬาและการเคลื่อนไหว มนุษยสัมพันธ์ การเข้าใจตนเอง และการเข้าใจธรรมชาติ
Smart D Camp รับเป็นออกาไนเซอร์ จัดทำค่ายพัฒนาเด็กและวัยรุ่น ให้โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ โดยทีมงานคุณภาพ มีประสบการณ์ในงานด้านพัฒนาเด็ก ทั้งในเด็กทั่วไป เด็กพิเศษ และเด็กอัจฉริยะ พร้อมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ทฤษฎีพหุปัญญา
Multiple Intelligence

ทฤษฎีพหุปัญญา
โปรแกรมอัจฉริยะ

ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ

ค่ายฉลาดคิด

ค่ายอารมณ์ดี

ค่ายเด็ก ดอกไม้ ดวงดาว
SMART D CAMP
ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ
จากทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) สู่รูปแบบค่ายแนวใหม่ ที่สร้างความประทับใจ ให้ความสนุกสนาน ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อค้นหาแววอัจฉริยะของเด็กแต่ละคน หลังจากกลับจากค่ายแล้วผู้ปกครองจะได้รับแบบประเมินพหุปัญญา
เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง เด็กบางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง ที่ชัดเจนคือเด็กแต่ละคนมักมีปัญญาความสามารถด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่โดดเด่นทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่โดดเด่นเลยสักด้านเดียว การค้นหาปัญญาความสามารถ เสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้สัมผัสและแสดงออก และส่งเสริมพัฒนาในด้านที่เด็กถนัด จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาในที่สุด
ตัวอย่าง ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 18
ตอน ไขปริศนาจักรวาล
Smart D Camp # 18
SMART IQ CAMP
ค่ายฉลาดคิด
ค่ายพัฒนาปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตามแนวทางทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) พัฒนาทักษะการคิดและแก้ไขปัญหา ในรูปแบบบูรณาการ ให้เด็กสนุกสนานกับการเรียนรู้ในภารกิจนักสืบอัจฉริยะ ที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น ชวนติดตาม ต้องใช้ความรู้ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ มาแก้ไขปัญหาจากเหตุไปหาผล และจากผลไปหาเหตุ ฝึกฝนวิธีการคิดหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
ตัวอย่าง ค่ายฉลาดคิด รุ่น 23
Smart IQ Camp # 23
SMART EQ CAMP
ค่ายอารมณ์ดี
ค่ายส่งเสริมและพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ - Emotional Quotient) ให้กับเด็ก โดยวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ ช่วยให้เด็กสนุกสนานกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และให้ผู้ปกครองรู้ถึงแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ให้กับเด็ก เพื่อนำไปพัฒนาต่อเนื่อง
“มีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด” ยังคงเป็นสัจธรรมเสมอ ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างขาดหายไป เรียนเก่ง จำเก่ง คิดเก่ง ก็ยังคงไม่พอ ถ้าโมโหร้าย รอคอยไม่ได้ แพ้ไม่เป็น สุดท้ายก็เอาตัวไม่รอด คำตอบสุดท้ายอาจเป็นอีคิวก็ได้ คนที่อีคิวดีมักประสบความสำเร็จ มีความสุข และเก่งขึ้นอีกด้วย
ตัวอย่าง ค่ายอารมณ์ดี รุ่น 10
Smart EQ Camp # 10
SMART DISCOVERY CAMP
ค่ายเด็ก ดอกไม้ ดวงดาว
จากประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการทำค่ายเด็กและเยาวชน เพื่อค้นหาและพัฒนาอัจฉริยภาพ ที่มีอยู่ในตัวเด็กอย่างรอบด้าน โดยอ้างอิงจากจากทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) สู่รูปแบบค่ายแนวใหม่ล่าสุด ที่สร้างความประทับใจ ให้ความสนุกสนาน ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กในด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalistic Intelligence)
Theory of Multiple Intelligences
ทฤษฎีพหุปัญญา
เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง บางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง
แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง
เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี
เด็กที่ไม่เก่งด้านภาษา อาจจะมีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ
เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา
เด็กที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี
เด็กที่ไอคิวสูง อาจเก่งหลายเรื่อง แต่ขาดทักษะทางสังคมที่ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ
ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมาย ได้เช่นกัน
ทฤษฎีพหุปัญญา
การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป
ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ
ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน
มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร
ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)
คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี
และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง
สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า
เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง
หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง
เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต
เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ
ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้
2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน
3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน
ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน
คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว
นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ