
ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 20
ตอน รหัสลับดาวพลูโต
Smart D Camp # 20
พบกันเร็ว ๆ นี้
(ประกาศงดทุกค่ายช่วงปิดเทอมใหญ่ 2563)
ติดต่อสอบถาม 083 903 9956
บันทึกความทรงจำ
ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 19
ตอน ตามหากาลิเลโอ
วันที่ 5-8 ตุลาคม 2562
ณ ภูผาผึ้ง รีสอร์ท จ.ราชบุรี
ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 19 »
เพลงสัญญาใต้แสงดาว
ตัวอย่าง ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 18
ตอน ไขปริศนาจักรวาล
วันที่ 24-27 มีนาคม 2561
ณ โรงแรม สตาร์ไลท์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
โปรแกรมค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ
Smart D Camp
จากทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) สู่รูปแบบค่ายแนวใหม่ ที่สร้างความประทับใจ ให้ความสนุกสนาน ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อค้นหาแววอัจฉริยะของเด็กแต่ละคน หลังจากกลับจากค่ายแล้วผู้ปกครองจะได้รับแบบประเมินพหุปัญญา
หลักการและแนวคิด
เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง เด็กบางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง ที่ชัดเจนคือเด็กแต่ละคนมักมีปัญญาความสามารถด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่โดดเด่นทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่โดดเด่นเลยสักด้านเดียว การค้นหาปัญญาความสามารถ เสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้สัมผัสและแสดงออก และส่งเสริมพัฒนาในด้านที่เด็กถนัด จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาในที่สุด ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านหลากมิติที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป ปัญญามีอยู่ 8 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านการเข้าใจตนเอง และด้านธรรมชาติวิทยา จากทฤษฎีพหุปัญญา สู่รูปแบบค่ายแนวใหม่ ที่สร้างความประทับใจ ให้ความสนุกสนาน ผสมผสานการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยนำมาบูรณาการเข้ากับ ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของสมอง (Brain-Based Learning) และความรู้ทางด้านจิตวิทยาเด็ก เสริมเติมแต่งด้วยประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เป็นโปรแกรมที่อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการและประสบการณ์อย่างแท้จริง
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์หลัก
1. เพื่อค้นหาแววอัจฉริยะในเด็กและวัยรุ่น เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาและพัฒนาตนเองของเด็กต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์รอง
2. เพื่อเสริมสร้างทักษะสังคม การเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมค่าย
3. เพื่อเป็นการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า
กลุ่มเป้าหมาย
เด็กและวัยรุ่น ช่วงอายุ 7-15 ปี
ระยะเวลา
4 วัน 3 คืน (ตุลาคม 2563)
สถานที่
-
ค่าลงทะเบียน
9,500 บาท (เก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน)
รูปแบบกิจกรรม
กิจกรรมการเรียนรู้ในค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ ประกอบด้วย
1) Smart Discovery กิจกรรมการค้นหามุมมองใหม่ๆ ในการเรียนรู้ เพื่อทบทวนให้รู้ถึงความสนใจ และความสามารถแต่ละด้านของพหุปัญญาที่มีอยู่ตัวเอง
2) Smart Learning การค้นหาแววอัจฉริยะของเด็กในรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลาย ที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะตัว เพื่อให้ทดลองทำ เรียนรู้ เข้าใจ และเกิดความภาคภูมิใจ ในความสามารถแต่ละด้านของพหุปัญญา
3) Smart Just Do It! กิจกรรมแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยใช้ความรู้ความสามารถในแต่ละด้านของพหุปัญญาที่มีอยู่ในตัวเด็ก ร่วมกันแก้ปัญหาโจทย์ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
4) Mystery Adventure ตื่นเต้น ผจญภัย ท้าทายกับภารกิจภาคกลางคืน สนุกสนานกับเขาวงกตอันเลื่องชื่อ ที่ต้องใช้ไหวพริบและความกล้า ในภารกิจครั้งนี้ ช่วยเสริมสร้างความประทับใจในการเรียนรู้
5) Sense of Nature สัมผัสและเรียนรู้ธรรมชาติ กับกิจกรรมค้นแววอัจฉริยะด้านธรรมชาติวิทยา
6) Smart Exercise สนุกกับออกกำลังกายยามเช้า ด้วยสไตล์แอโรบิคส์ จากครูฝึกเฉพาะด้าน ค้นหาแววอัจฉริยะด้านการเคลื่อนไหว
7) Smart Diary กิจกรรมการสร้างสรรค์ไดอารี่ส่วนตัว โดยใช้ความสามารถทางศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์
8) Smart Buddy กิจกรรมเสริมสร้างมิตรภาพ เรียนรู้การดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันน้ำใจ และการเอื้ออาทร เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.)
9) Smart Action ดึงแววความสามารถของเด็กแต่ละคนออกมาประยุกต์ใช้ ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเด็ก
10) แคมป์ไฟใต้แสงดาว ดื่มด่ำกับบรรยากาศใต้แสงดาว กิจกรรมรอบกองไฟที่สนุกสนาน การแสดงจากพี่เลี่ยงและน้องๆ ในค่ายที่ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อเก็บความประทับใจไว้อย่างไม่รู้ลืม
หมายเหตุ : โปรแกรมอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม



ตารางกิจกรรม
ตารางกิจกรรม ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่น 20
การเตรียมตัวมาค่าย
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนัดหมายการเดินทาง การเตรียมตัวไปค่าย เรื่องทั่วๆ ไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในค่าย และข้อมูลประกอบอื่นๆ ให้กับน้องๆ และผู้ปกครองให้ทราบเกี่ยวกับค่ายฯ ดังนี้ครับ
สิ่งของที่ต้องเตรียมไปค่าย
- เสื้อผ้าเตรียมไปให้พอกับจำนวนวันที่อยู่ค่าย ไม่ต้องส่งซักหรือซักเอง เพราะคงไม่มีเวลาเพียงพอ ยกเว้นการซักเล็กๆ น้อยๆ
- ถุงเท้า รองเท้าผ้าใบ (สำหรับออกกำลังกายตอนเช้า) และชุดกีฬา (หรือใครจะใส่ชุดนอนมาวิ่งก็ไม่ว่ากัน)
- รองเท้าแตะ
- สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม
- ผ้าเปลี่ยนอาบน้ำ/ ผ้าเช็ดตัว
- ยาประจำตัว
- ครีมกันแดด (ถ้าต้องการใช้)
ข้อมูลอื่นๆ
- ในการเข้าฐานแต่ละวัน แต่งกายตามสบาย ส่วนรองเท้าก็เลือกใส่กันตามสะดวกครับ
- ฐานเรียน ที่พัก โรงอาหาร จะอยู่ไม่ไกลกัน สามารถเดินถึงกันได้สะดวก
- ไม่ควรนำของมีค่าติดตัวมา สำหรับกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์มือถือ อนุญาตให้นำมาได้ แต่ควรดูแลเก็บรักษาให้ดี ส่วนเงิน นำมาแค่พอค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ก็พอ เช่น ค่าขนม
- กรณีที่ผู้ปกครองต้องการติดต่อกับน้องๆ (ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์) ระหว่างที่อยู่ค่าย สามารถติดต่อที่โทรศัพท์มือถือเบอร์กลาง 083-903-9956 และเพื่อความสะดวกในการตามตัวและไม่รบกวนน้องๆ
ในเวลาทำกิจกรรม จึงขอกำหนดเวลาโทรฯครับ คือให้ผู้ปกครองโทรฯติดต่อช่วงเวลา 8.00-9.00 น . ,12.00-13.00 น . และ 17.00-19.00 น . ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
หากมีข้อสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติม สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณแสงรวี โทร . 083-903-9956
การรับ-ส่งเด็ก
ในวันเดินทาง ผู้ปกครองโปรดนำเด็กมาลงทะเบียนที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ ชั้น 7 Education Zone หน้า Smart D Camp สถาบัน Happy Home (ตามแผนที่) เวลา 9.00 น .

จอดรถที่อาคารจอดรถด้านหลัง ชั้น 3 โซน B แล้วเข้าศูนย์การค้าที่ชั้น 3 โซน B (เนื่องจากชั้นอื่นยังไม่เปิด) เดินตรงเข้ามา จะเจอลิฟท์ทางขวามือ ขึ้นลิฟท์ จากชั้น 3 มาที่ชั้น 7 โซนการศึกษา (Education Zone) ออกจากลิฟท์เลี้ยวซ้าย จะเห็นร้าน HAPPY HOME พอดี
ทางเข้าจากอาคารจอดรถ ชั้น 3 โซน B
ขึ้นลิฟท์ จากชั้น 3
ชั้น 7 Education Zone
ออกจากลิฟท์เลี้ยวซ้ายจะเห็นร้าน HAPPY HOME
บันทึกความทรงจำ
ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ รุ่นพิเศษ
สำหรับโรงเรียน หรือหน่วยงานที่สนใจ สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทางทีมงานยินดีเข้าไปนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ และโปรแกรมต่างๆ สามารถปรับให้เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายที่โรงเรียนหรือหน่วยงานต้องการ

เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง บางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง
แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง
เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี
เด็กที่ไม่เก่งด้านภาษา อาจจะมีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ
เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา
เด็กที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี
เด็กที่ไอคิวสูง อาจเก่งหลายเรื่อง แต่ขาดทักษะทางสังคมที่ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ
ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมาย ได้เช่นกัน
การค้นหาปัญญาความสามารถ เสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้สัมผัสและแสดงออก และส่งเสริมพัฒนาในด้านที่เด็กถนัด จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาในที่สุด
สมาร์ทดีแคมป์ (Smart D Camp) ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอทางเลือกเพื่อการพัฒนาเด็ก โดยจัดเป็นกิจกรรมค่าย และโปรแกรมต่างๆ เพื่อค้นหาแววความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหา และพัฒนาตนเองของเด็กต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างทักษะสังคม การเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ และเป็นการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่าด้วย
จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง
จากประสบการณ์สู่ความเชี่ยวชาญ
ด้วยบทพิสูจน์จากผลงานมากกว่า 100 กิจกรรม
ในด้านการจัดค่าย และ โปรแกรม
สำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย
Smart D Camp จัดทำเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ ค่ายช่วงปิดเทอม และค่ายสุดสัปดาห์ เพื่อให้เด็กและวัยรุ่นได้ค้นหา พัฒนาความสามารถที่มีอยู่ สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำทฤษฎีพหุปัญญามาประยุกต์เพื่อส่งเสริมสติปัญญาทุกด้าน ทั้ง การใช้เหตุผล ภาษา มิติสัมพันธ์ ดนตรี กีฬาและการเคลื่อนไหว มนุษยสัมพันธ์ การเข้าใจตนเอง และการเข้าใจธรรมชาติ
Smart D Camp รับเป็นออกาไนเซอร์ จัดทำค่ายพัฒนาเด็กและวัยรุ่น ให้โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ โดยทีมงานคุณภาพ มีประสบการณ์ในงานด้านพัฒนาเด็ก ทั้งในเด็กทั่วไป เด็กพิเศษ และเด็กอัจฉริยะ พร้อมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
การศึกษา
· แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
· วุฒิบัตรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น (จุฬาฯ)
ทฤษฎีพหุปัญญา
Multiple Intelligence

ทฤษฎีพหุปัญญา
โปรแกรมอัจฉริยะ

ค่ายค้นหาแววอัจฉริยะ

ค่ายฉลาดคิด

ค่ายอารมณ์ดี

ค่ายเด็ก ดอกไม้ ดวงดาว
Theory of Multiple Intelligences
ทฤษฎีพหุปัญญา
เด็กบางคนเก่งทุกเรื่อง บางคนเก่งเฉพาะบางเรื่อง
แต่ไม่มีใครที่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง
เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี
เด็กที่ไม่เก่งด้านภาษา อาจจะมีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ
เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา
เด็กที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี
เด็กที่ไอคิวสูง อาจเก่งหลายเรื่อง แต่ขาดทักษะทางสังคมที่ดี
เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ
ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมาย ได้เช่นกัน
ทฤษฎีพหุปัญญา
การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น
ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ทฤษฎีพหุปัญญา” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป
ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ
ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์
ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)
คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน
มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร
ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)
คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี
และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง
สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า
เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง
หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง
เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต
เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์
สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ
ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้
2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน
3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน
ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน
คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว
นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ